จังหวัดนครราชสีมากับประวัติศาสตร์อันยาวนาน
จังหวัดนครราชสีมาเดิมนั้นเป็นเมืองโบราณในอาณาจักรไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบัน 31 กิโลเมตร เรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” หรือ “โคราช” กับ “เมืองเสมา” ซึ่งทั้ง 2 เมือง เคยเจริญรุ่งเรือง ในสมัยขอม แต่ในปัจจุบันเป็นเมืองร้างตั้งอยู่ริมลำตะคอง
จังหวัดนครราชสีมาในสมัยต่างๆ
สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199 – 2231) ได้โปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นใน พื้นที่ตัวเมืองปัจจุบัน โดยเอาชื่อ “เมืองโคราฆะปุระ”กับ “เมืองเสมา” มาผูกเป็นนามเมืองใหม่เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่คนทั่วไป เรียกว่า “เมืองโคราช”
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศ เป็นเจ้าพระยา โดย เจ้าพระยานครราชสีมาคนแรกชื่อ ปิ่น ณ ราชสีมา และในรัชกาลนี้เมืองนครราชสีมา ได้นำช้างเผือก 2 เชือก ขึ้นน้อมเกล้าถวาย ต่อมา ในปี พ.ศ.2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ก่อการกบฏ ยกกองทัพ มาตีเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อน พลเมือง ไปเป็นเชลย คุณหญิงโม (ภรรยาปลัดเมือง นครราชสีมา(พระสุริยเดชวิเศษ ฤทธิ์ทศทิศวิชัย)) ผู้รักษาเมืองแสร้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจ ทหารลาว เมื่อถูกกวาดต้อนมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์ใน เขตอำเภอพิมาย ก็หยุดพักกลางทางพอได้โอกาส คุณหญิงโม ก็จัดกองทัพโจมตีกองทัพเวียงจันทน์ แตกพ่ายไป วีรกรรมที่คุณหญิงโมได้ประกอบขึ้นนี้ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา คุณหญิงโม ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “ท้าวสุรนารี” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรด เกล้า ฯ ให้รวบรวมหัวเมืองในเขตที่ราบสูงให้ นครราชสีมาเป็นที่ว่าการมณฑล ลาวกลาง ในปี พ.ศ. 2434 ( ร.ศ. 110 )